พุทธศาสนา ๕๐๐๐ ปี

เป็นเนื้             

                                                                                          หน้า ๑.                                                                            




                           พุทธศาสนา  ๕,๐๐๐ ปี  พึงค้นดูได้ใน

                ๑.คัมภีร์พระวินัยปิฎก  จุลวรรค

               ๒.คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก  อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย

                ๓.คัมภีร์สมันตปาสาทิกา  อรรถกถาพระวินัยปิฎก

                ๔.คัมภีร์มโนรถปูรณี  อรรถกถาอังคุตตรนิกาย

                ๕.มิลินทปัญหา

                 ๖.พระบาลีกัสสปสังยุตต์ นิทานวรรค

                          ๑.คัมภีร์พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม๗ หน้า๓๒๐ ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านาง เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จทิวงคตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้หญิงจะบวชในพระพุทธศาสนาได้หรือไม่พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสตอบว่า ดูก่อนโคตรมี ท่านจงอย่าได้ชอบใจในการบวชเลย อันผู้หญิงนี้ไม่สมควรจะบวช พระนางมหาปชาบดีโคตมีกราบทูลอ้อนวอนขอบวชถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ทรงอนุญาต พระนางเจ้าเสียพระหฤทัยทรงกรรแสง ถวายอภิวาทลาพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เสด็จคืนเข้าพระราชนิเวศน์ ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ตามควรแก่อัธยาศัยแล้ว ก็เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ถึงเมืองเวสาลี ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ณ พระตำหนักมียอด ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีมีพระทัยยินดีจะบวช ก็ให้ตัดพระเมาลีของพระองค์เสียแล้ว ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ อธิษฐานเพศบรรพชา จำเพาะพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยนางสากิยานี    (เจ้าหญิงศากยวงค์) เป็นอันมาก ไปถึงเมือง

เวสาลี ยืนทรงกรรแสงอยู่นอกซุ้มพระทวาร พระตำหนักมียอด ที่ป่ามหาวัน พระอานนท์ทราบจึงออกมาต้อนรับและไต่ถาม ทราบความว่า พระนางเจ้าทรงกรรแสง เพราะเสียพระหฤทัยเหตุพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้หญิงบวชในพระธรรมวินัย พระอานนท์จึงสั่งว่า ให้พระนางเจ้าทรงยับยั้งรออยู่สักครู่หนึ่งก่อน อาตมาจะเข้าไปทูล ขอให้พระองค์ทรงโปรดประทานอุปสมบทแก่ผู้หญิงให้จงได้ แล้วพระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลเรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตรมี ตัดเมาลีทรงผ้ากาสาวพัสตร์ พร้อมด้วยนางสากิยานีเป็นอันมาก เสด็จมายืนทรงกรรแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารพระตำหนัก ให้ทรงทราบแล้ว ทูลขอให้ทรงอนุญาตผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย ถึง ๓ ครั้ง พระองค์ก็ตรัสห้าม ไม่ทรงอนุญาตให้บวช พระอานนท์คิดจะทูลขอโดยอุบายอย่างอื่น จึงทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้หญิงได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ควรจะกระทำมรรคผลให้แจ้งได้หรือไม่ พระองค์ตรัสว่าควร อานนท์. พระอานนท์ทูลว่าถ้าควร พระนางมหาปชาบดีโคตรมีซึ่งเป็นพระน้านางของพระองค์ มีอุปการะมาก เมื่อพระชนนีของพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ได้เป็นผู้เลี้ยงและถวายนมมาตราบเท่าทรงพระเจริญ ควรอนุเคราะห์ให้ได้สมความปรารถนา  ขอผู้หญิงพึงได้บวชในพระพุทธศาสนานี้เถิด. พระองค์ตรัสว่า อานนท์ ถ้านางมหาปชาบดีโคตรมียอมรับและประพฤติตามครุธรรม (เงื่อนไขสำคัญ) ๘ ประการได้ ตถาคตก็อนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีได้

                                                  ครุธรรม ๘ ประการนั้นคือ.

๑.นางภิกษุณี แม้บวชแล้วได้ร้อยปี ต้องทำการกราบไหว้ ลุกต้อนรับประณมมือและ           

    กรรมอันสมควรอื่นๆ แก่ภิกษุแม้บวชแล้วในวันนั้น

๒.ภิกษุณีอย่าพึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

๓.ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือถามวันอุโบสถ๑ เข้าไปฟัง

    คำสอน๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้งสาม คือโดยได้เห็น       

    โดยได้ยิน    หรือโดยรังเกียจ

๕.ภิกษุณีต้องธรรมที่หนัก (คืออาบัติหนัก) แล้วต้องประพฤติมานัตต์ ในสงฆ์สองฝ่าย    

    ปักษ์หนึ่ง ๑๕ วัน

๖.ภิกษุณี ต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานาผู้ศึกษาในธรรม ๖  

    ประการ (ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี ถึงวิกาลโภชนาเวรมณี) ครบ ๒ ปีแล้ว

๗.ภิกษุณีอย่าพึงด่าว่าภิกษุ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง

๘.ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ให้ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

    ภิกษุณีต้องสักการะเคารพนับถือบูชาครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต ถ้านางมหาปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นจงเป็นอุปสัมปทาของนางเถิด.

     พระอานนท์จำครุธรรม ๘ ประการนั้นได้แล้ว ไปบอกแก่พระนางมหาปชาบดีโคตรมีตามที่พระพุทธเจ้ารับสั่ง พระนางเจ้าตรัสตอบว่า พระอานนท์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ายอมรับ

ครุธรรม ๘ ประการนี้ ปฏิบัติไม่ก้าวล่างจนตลอดชีวิตด้วยความยินดี เปรียบเหมือนหญิงหรือชาย ที่ยังรุ่นสาวหรือรุ่นหนุ่ม กำลังรักแต่งกายอาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงดอกอุบลหรือพวงมะลิพวงลำดวนแล้ว จะพึงรับด้วยมือทั้งสอง แล้ววางไว้เหนือศรีษะด้วยความยินดีฉะนั้น พระอานนท์ก็กลับมาทูลความที่พระนางเจ้ามหาปชาบดีโคตรมียอมรับครุธรรม ๘ ประการนั้นแล้ว พระองค์ก็โปรดบรรพชาอุปสมบทให้แก่พระนางเจ้าพร้อมทั้งบริวาร เป็นภิกษุณีด้วยครุธรรม ๘ ประการนั้นแล.  พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าผู้หญิงจักไม่ได้บวชในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน พระสัทธรรม (คือพระพุทธศาสนา) จักดำรงอยู่ได้ตลอด ๑,๐๐๐ ปี. แต่เพราะเหตุที่ผู้หญิงบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่นาน พระสัทธรรม (คือพระพุทธศาสนา) จักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น เปรียบเหมือนตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่มีผู้หญิงมาก มีผู้ชายน้อย ตระกูลนั้นโจรกำจัดได้ง่าย อีกอย่างหนึ่ง เหมือนเพลี้ยที่ลงในนาข้าวสาลีที่บริบูรณ์ ชักให้ข้าวสาลีในนาเสียไปในเวลารวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นานได้. เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการนี้ไม่ให้ภิกษุณีก้าวล่วงตลอดชีวิตเสียก่อน เหมือนบุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่กั้นน้ำไม่ให้น้ำไหลออกฉะนั้น.

                                ๒.คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๓ หน้า ๒๘๑ พรรณนาความที่พระนางมหาปชาบดีโคตรมี ทูลขอบรรพชาอุปสมบท จนถึงทรงอนุญาตให้พระนางได้อุปสมบทด้วยครุธรรม ๘ ประการ และตรัสกำหนดอายุพระศาสนาตรงกับคัมภีร์พระวินัยปิฎก ที่กล่าวมาแล้วในข้อหนึ่ง

                               ๓.คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก ภาค ๓ หน้า ๔๔๙ พรรณนาความว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระสัทธรรม (คือพุทธศาสนา) จักดำรงอยู่ได้ตลอด ๑,๐๐๐ ปีนั้น ด้วยสามารถแห่งพระขีณาสพผู้ถึงความแตกฉานในปฏิสิมภิทาญาณ ท่านได้ขยายความต่อไปอีกว่า พระปฏิเวธสัทธรรม (คือการบรรลุมรรคผล) จักมีอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ ปี ด้วยสามารถแห่งการบรรลุมรรคผลลดลั่นลงไปตามลำดับอย่างนี้ คือ.

ภายในพันปีที่ ๑ ยังมีพระอรหันต์ขีณาสพผู้ได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ

ภายในพันปีที่ ๒ ยังมีพระอรหันต์ขีณาสพประเภทสุกขวิปัสสกะ

ภายในพันปีที่ ๓ ยังมีผู้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามี

ภายในพันปีที่ ๔ ยังมีผู้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระสกิทาคามี

ภายในพันปีที่ ๕ ยังมีผู้ได้บรรลุมรรผลเป็นพระโสดาบัน

                    รวมเป็นพระพุทธศาสนา จักดำรงอยู่ได้ตลอด ๕,๐๐๐ ปี ด้วยอาการอย่างนี้. ตามคำของพระอรรถกถาจารย์ (พุทธโฆษะ) ผู้รจนาคัมภีร์นี้ อ้างพระพุทธพจน์ที่ตรัสในคัมภีร์พระวินัยปิฎกยืนยันว่า พระพุทธศาสนาจักตั้งอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ ปี.

                            ๔.คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ภาค ๓หน้า ๓๐๐ พระพุทธโฆษะผู้รจนาคัมภีร์ พรรณนายืนยันความที่พระปฏิเวธสัทธรรมจักดำรงอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ ปี ตรงกับคัมภีร์สมันต

ปาสาทิกา ที่กล่าวมาแล้วในข้อสามเช่นเดียวกัน

                            ๕.คัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านผู้รจนายืนยันว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๕๐๐ ปี จักมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่านาคเสน มีปัญญาเฉียบแหลม สามารถชักจูงแนะนำพระเจ้ามิลินท์ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ด้วยอุปมาต่างๆ จักช่วยกระทำพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้. และในคัมภีร์เดียวกันนั้นเองแสดงว่า พระเจ้ามิลินท์ตั้งปัญหาถามพระนาคเสนว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ สัทธรรม (คือพระพุทธศาสนา) จักดำรงอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ ปีบริบูรณ์ และในสมัยจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ยังตรัสแก่สุภัททปริพพาชกว่า ดูก่อนสุภัททะ ภิกษุทั้งหลายยังปฏิบัติชอบอยู่เพียงใด โลกจักไม่สูญ ไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลายเพียงนั้น ดังนี้ ว่ามิเป็นการขัดแย้งกันหรือ? พระนาคเสนได้ถวายวิสัชชนาว่า ไม่เป็นการขัดแย้งกันแต่ประการใด และถวายพระพร ชี้เหตุผลพร้อมทั้งอุปมาอันแจ่มแจ้งและปฏิภาณอันเฉียบแหลม จนพระเจ้ามิลินท์ทรงเข้าใจแจ่มแจ้งหายกังขาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังปรากฏแล้วในคัมภีร์นั้น.

          ตามหลักฐานในคัมภีร์ต่างๆ ที่อ้างมานี้ คงได้ความดังนี้ ที่ว่าพระพุทธศาสนาจักดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปีนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสเองโดยตรง คือตรัสแต่เพียงว่า ถ้าผู้หญิงไม่ได้บวช (โดยไม่ได้รับครุธรรม ๘ ประการ) พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ตลอด ๑,๐๐๐ ปี ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ผู้รู้พุทธประสงค์ ได้ขยายความหมายของคำว่า ๑,๐๐๐ ปี ออกเป็น ๕,๐๐๐ ปี ด้วยหลักแห่งการบรรลุมรรคผลดังนี้. คือ.  เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงครบ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว (๑๐ ศตวรรษ) จะไม่มีพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ

เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงครบ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว (๒๐ ศตวรรษ) จะไม่มีพระอรหันต์สุกขวิปัสสก

เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงครบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว (๓๐ ศตวรรษ) จะไม่มีพระอนาคามี

เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงครบ ๔,๐๐๐ ปีแล้ว (๔๐ ศตวรรษ) จะไม่มีพระสกิทาคามี

เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงครบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว (๕๐ ศตวรรษ) จะไม่มีพระโสดาบัน

          “ใครจะเป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมสูญ” ข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ไว้แล้วว่า บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะเป็นผู้ยังพระสัทธรรมให้เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมสูญไป.

                             เหตุที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมมีอยู่ ๕ ประการ คือ.

๑.ภิกษุในพระศาสนานี้ ไม่ตั้งใจฟังพระธรรมวินัยโดยเคารพ

๒.ภิกษุในพระศาสนานี้ ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยโดยเคารพ

๓.ภิกษุในพระศาสนานี้ ไม่ตั้งใจจดจำพระธรรมวินัยให้แม่นยำ

๔.ภิกษุในพระศาสนานี้ ไม่ตั้งใจตรึกตรองอรรถแห่งพระธรรมวินัยโดยเคารพ

๕.ภิกษุในพระศาสนานี้ ไม่ตั้งใจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคารพ

     เหตุ ๕ ประการนี้แล จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญอันตรธาน ไม่ใช่อย่างอื่น.

อาการที่พระพุทธศาสนาจะเสื่อม พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระมหากัสสปะเถระ โดยใจความว่า ดูก่อนกัสสปะ พระสัทธรรมจะค่อยๆเสื่อมลงโดยลำดับ โดยอาการที่คนทั้งหลายไม่รู้สึก ไม่วูบวาบเหมือนเรือจม

     ในคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกายภาค ๑ หน้า ๙๑ ท่านพรรณนา

              อันตรธาน ความเสื่อมสูญไว้ ๕ อย่าง คือ.

๑.ปริยัติอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งพระปริยัติธรรม

๒.ปฏิปัตติอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งการปฏิบัติ

๓.ปฏิเวธอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งการตรัสรู้มรรคและผล

๔.ลิงคอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งสมณะเพศ

๕.ธาตุอันตรธาน ความเสื่อมสูญแห่งพระบรมธาตุ

          ๑.พระปริยัติธรรม กล่าวคือพระไตรปิฎกนี้ ย่อมเป็นปัจจัยอย่างสำคัญในอันตั้งอยู่แห่งพระศาสนา แท้จริงบุคคลผู้ประกอบด้วยปรีชาญาณ ปฏิบัติไปจนได้บรรลุมรรคผลและนิพพาน ก็เพราะได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก. ผู้มีปัญญาได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ย่อมอาจเพื่อจะยังปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรมให้บริบูรณ์ได้.เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อพระปริยัติคือพระไตรปิฎกยังดำรงอยู่ตราบใด ศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่ตราบนั้น. 

          เมื่อ พระปริยัติธรรมเสื่อมถอย น้อยผู้เล่าเรียนแล้วในกาลใด ศาสนาก็ชื่อว่าเสื่อมแล้วในกาลนั้น. เมื่อกาลล่วงไปๆ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองรัฐประเทศอันบังเกิดในสมัยกลียุค มิได้ตั้งอยู่โดยทศพิธราชธรรมหมู่อำมาตย์ราชเสนาบดีและอาณาประชาชน ก็ไม่ตั้งอยู่โดยธรรม. เพราะเหตุที่มนุษย์ทั้งหลายมิได้ตั้งอยู่โดยธรรม ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารก็มิได้บริบูรณ์. เมื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่บริบูรณ์แล้ว หมู่มนุษย์ที่ถวายจตุปัจจัย แด่สงฆ์ผู้มีหน้าที่ทรงพระธรรมวินัย ก็ไม่อาจถวายได้. เมื่อภิกษุทั้งหลายขัดสนด้วยจตุปัจจัยแล้ว ก็ไม่อาจสงเคราะห์กุลบุตรให้ศึกษาพระปริยัติธรรมได้. เมื่อไม่มีผู้ศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรมก็มีแต่เสื่อมทรุดลงไป. ภิกษุทั้งหลายไม่อาจทรงอรรถะไว้ได้ ก็ทรงไว้แต่บาลีอย่างเดียว เมื่อกาลล่วงไป ภิกษุก็ไม่อาจทรงไว้ซึ่งบาลีทั้งหมด. พระปริยัติธรรมก็เสื่อมทรุดลงทุกที เมื่อปิฎกทั้ง ๓ เสื่อมนั้น พระอภิธรรมปิฎกเสื่อมก่อน พระสุตตันตปิฎกและพระวินัยปิฎกยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อม. เมื่อกาลล่วงไป พระสุตตันตปิฎกก็เสื่อมลงโดยลำดับ กาลนั้นภิกษุทั้งหลายก็ทรงจำไว้ได้เพียงชาดกและพระวินัย เมื่อกาลล่วงไป ภิกษุทั้งหลายก็ไม่อาจทรงชาดกไว้ได้ ชาดกก็เสื่อม เริ่มเสื่อมลงมาตั้งแต่เวสสันดรชาดกจนถึงอปัณณกชาดกเป็นที่สุด แต่นั้น ภิกษุทั้งหลายก็ทรงจำไว้ได้แต่พระวินัยปิฎกเท่านั้น เมื่อกาลล่วงไป พระวินัยปิฎกก็เสื่อม เริ่มเสื่อมตั้งแต่คัมภีร์ปริวารลงมาจนถึงคัมภีร์ภิกขุณีวิภังค์ กาลนั้นภิกษุทั้งหลายทรงไว้ได้แต่อุโบสถขันธกะอย่างเดียว ภิกษุทั้งหลายยังทรงจำอุโบสถขันธกะไว้ได้เพียงไร พระปริยัติธรรมก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อมเพียงนั้น มนุษย์ทั้งหลายยังจดจำคาถา (บทกวี) ไว้ได้ แม้ไม่มาก เพียง ๔ บาทเท่านั้น พระปริยัติธรรมชื่อว่ายังไม่อันตรธาน ในกาลใดพระมหากษัตริย์ทรงพระราชศรัทธาใส่ทรัพย์แสนหนึ่งลงในผอบทอง ให้ข้าราชการเที่ยวป่าวร้องทั่วแล้ว ไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งอาจอ้างว่า เรารู้คาถาประมาณ ๔ บาท ข้าราชการก็นำทรัพย์กลับคืนสู่พระคลังหลวงในกาลนั้น พระปริยัติธรรม ก็ชื่อว่าสูญสิ้นแล้ว

          ๒.ปฏิปัติสัทธรรม  ความเสื่อมสูญแห่งการปฏิบัติ ท่านแสดงไว้ดังนี้ว่า เมื่อกาลล่วงไป ภิกษุทั้งหลายไม่อาจยังฌานวิปัสสนามรรคผลและนิพพานให้เกิดขึ้นได้ ก็รักษาแต่จตุปาริสุทธิศีล อย่างเดียว.ครั้นนานไป ภิกษุทั้งหลายก็เบื่อหน่ายในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์และประกอบกิจบำเพ็ญเพียร ด้วยคิดท้อว่าเราทั้งหลายจะเพียรเท่าไร ก็ไม่อาจสำเร็จมรรคผลได้ การบรรลุมรรคผลไม่มีเสียแล้ว ดังนี้ ก็คลายความเพียร มากไปด้วยความเกียจคร้าน ไม่ตักเตือนว่ากล่าวกัน จำเดิมแต่นั้นภิกษุทั้งหลาย ก็ย่ำยีกองอาบัติเล็กน้อย สำรวมรักษาไว้แต่ครุกาบัติ เมื่อภิกษุทั้งหลายยังทรงปาราชิกสิกขาบทไว้

ได้เพียงไร การปฏิบัติก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อมเพียงนั้น ต่อเมื่อหาภิกษุที่สำรวมรักษาปาราชิกสิกขาบทมิได้แล้ว ปฏิบัติธรรมก็ชื่อว่าเสื่อมสิ้นหาเศษมิได้

          ๓.ปฏิเวธธรรม  ความเสื่อมสูญแห่งการบรรลุมรรคผล ท่านแสดงไว้ดังนี้ว่า บุคคลผู้ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล ถ้ายังมีอยู่แม้ไม่มาก เพียงองค์เดียว ปฏิเวธธรรมก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อม. ในกาลใดหาบุคคลผู้สำเร็จพระโสดาปัตติผลมิได้แล้ว ในกาลนั้นแล ปฏิเวธธรรมชื่อว่าเสื่อมสิ้นแล้ว

          ๔.ความเสื่อมสูญแห่งสมณะเพศ ท่านแสดงไว้ดังนี้ว่า เมื่อกาลล่วงไป ภิกษุทั้งหลายจักมีอากัปกิริยาไม่น่าเลื่อมใส จักวางบาตรไว้บนบ่าเที่ยวภิกขาจาร เหมือนดังนิครนถ์ ซึ่งวางผลน้ำเต้าไว้บนแขนแล้วเที่ยวภิกขาจาร เมื่อกาลล่วงไป ภิกษุทั้งหลายจักหาบหิ้วบาตรด้วยสาแหรก แล้วเที่ยวภิกขาจารประพฤติอนาจารผิดสมณะผู้รักษาจตุปาริสุทธิศีล. แม้ภิกษุทั้งหลายจะประพฤติอนาจารอย่างนั้น เพศสมณะก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อม เมื่อกาลล่วงไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ย้อมผ้าให้มีสีควรแก่สมณะเพศ  จะทำผ้านั้นให้มีสีซีดเศร้าหมองเหมือนสีกระดูกอูฐ ครั้นนานไปภิกษุทั้งหลาย จะดำริว่าเราจะมากังวลอะไรกับผ้าย้อมน้ำฝาด คิดดั้งนี้แล้ว ก็ปลดเปลื้องไตรจีวรออกจากกาย แล้วผูกพันที่ข้อมือบ้าง  คอบ้าง  กระทำกสิกรรม พาณิชกรรม เลี้ยงบุตรภรรยา เมื่อมนุษย์มีศรัทธาจะถวายทักษิณาทานอุทิศเฉพาะสงฆ์ ให้แก่สมณะที่มีผ้ากาสาวะอยู่ที่ข้อมือและคอนั้น จะได้ผลานิสงส์นับประมาณมิได้   อนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้แก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล จะหาภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งจีวรมิได้ จะมีแต่ โคตรภูสงฆ์ พันผ้ากาสาวะไว้ที่ข้อมือและคอ ไม่มีศีล ถ้าบุคคลมีศรัทธาปรารถนาจะกระทำกุศลให้มีผลมาก ก็จงตั้งจิตอุทิศต่อสงฆ์ แล้วให้ทักษิณาแก่คนเหล่านั้น เราตถาคตสรรเสริญว่าทานของผู้นั้นตั้งอยู่ในสงฆ์ เป็นสังฆทานแท้ จะนำผลานิสงส์มาให้สุดที่จะประมาณ เมื่อคนเหล่านั้นไปทำการงานอยู่ในป่า ก็มีความดำริว่า เราจะต้องการอะไรด้วยผ้ากาสาวะอันผูกที่ข้อมือและคอ ฉะนี้แล้วก็จะพากันนำผ้ากาสาวะทิ้งไว้ในป่า ในกาลนั้นแล สมณะเพศชื่อว่าเสื่อมสิ้นหาเศษมิได้

          ๕.ความเสื่อมสูญแห่งพระบรมธาตุ ท่านแสดงไว้ดังนี้ว่า พระบรมธาตุนิพพาน ชื่อว่าธาตุอันตรธาน แท้จริงนิพพานนั้นมี ๓ คือ กิเลสนิพพาน๑ ขันธ์นิพพาน๑ ธาตุนิพพาน๑ กิเลสนิพพานได้มีแล้วในเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงชำนะมารและเสนาด้วยพระบารมี กำจัดกิเลสาสวะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นโพธิ์ ขันธ์นิพพานได้มีแล้วในเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเหนือมงคลอาสน์ ระหว่างต้นรังทั้งคู่ ณ สาลวโนทยาน ใกล้กรุงกุสินาราในวันเพ็ญวิสาขปุณณมี ธาตุนิพพาน จักมีในอนาคตกาล โดยอาการอย่างนี้คือ เมื่อกาลล่วงไป พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ เมื่อไม่ได้เครื่องสักการบูชาแล้ว ก็จักเสด็จไปสู่ที่ ที่มีคนสักการบูชา ถ้ามีคนสักการะบูชาอยู่ในประเทศทิศใด พระบรมธาตุก็จักเสด็จไปสู่ประเทศทิศนั้น ด้วยกำลังอฐิษฐานแห่งพระพุทธเจ้า ครั้นกาลล่วงไป สถานที่ทั้งปวงปราศจากเครื่องสักการะบูชาแล้ว พระบรมธาตุก็จักเสด็จมาประชุมกัน แล้วเสด็จไปสู่มหาเจดีย์องค์ใหญ่ในลังกาทวีป ครั้นออกจากที่นั้นแล้ว ก็เสด็จไปสู่โพธิบัลลังก์ พระบรมธาตุทั้งหลายในนาคพิภพก็ดี ในเทวโลกก็ดี จะเสด็จไปสู่โพธิบัลลังก์ทั้งสิ้น ครั้นประชุมพร้อมกันด้วยประการอย่างนี้แล้ว จักแสดงอาการเป็นพระพุทธรูป ปรากฏเหมือนอย่างองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งประทับเหนือรัตนะบัลลังก์ใต้ควงไม้โพธิ์

 ประกอบด้วยพระมหาปุริษลักษณะ ทรงพระรัศมีโอภาสไกลได้ข้างละวาเป็นกำหนด

จักกระทำพระปาฏิหาริย์ มีอาการดุจยมกปาฏิหาริย์ ครั้งเมื่อทรมานเดียรถีย์ภายใต้ต้นคัณฑามพฤกษ์ เปล่งออกซึ่งพระฉัพพัณณรังสี เมื่อพระบรมธาตุประชุมครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายจะได้เห็นหามิได้ ฝ่ายเทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล จะมาประชุมพร้อมกัน แสดงความเศร้าโศกอาลัยร้องให้เหมือนครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานรำพันว่า  องค์พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันนี้แล้ว ครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปนี้โลกนี้จะมืดมนอันธการ ในลำดับนั้น เตโชธาตุก็ตั้งขึ้นแต่พระสรีระธาตุ เผาผลาญให้ย่อยยับ ถึงซึ่งภาวะหาบัญญัติมิได้ เปลวไฟซึ่งตั้งขึ้นแต่พระบรมธาตุนั้น พุ่งพ้นขึ้นไปถึงพรหมโลก ครั้นพระบรมธาตุแสดงปาฏิหาริย์ดังนี้แล้ว ก็แสดงนิพพาน ฝ่ายเทวดาที่มาประชุมพร้อมที่พระบรมธาตุ ก็สักการบูชาด้วยของหอม และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรี กระทำประทักษิณเวียนขวา ๓ รอบ แล้วก็กลับไปสู่ที่อยู่แห่งตนๆ

     พุทธบริษัททุกคนมีบทบาทสำคัญ ในอันที่จะช่วยบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองไพศาลก็ได้ และจะทำลายพระพุทธศาสนาให้สูญสิ้นก็ได้ ถ้าทุกคนยังปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด คือ เว้นความชั่วที่เรียกว่าบาปทั้งปวง ทำความดีที่เรียกว่าบุญ ทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว มีศีลมีธรรม มีความกตัญญูต่อท่านผู้มีพระคุณ มีหิริโอตตัปปะ ไม่เบียดเบียนล้างผลาญตนและคนอื่น ไม่ริษยาอาฆาตกัน มีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจกันอยู่ตราบใด พระพุทธศาสนาก็ยังไม่เสื่อม มรรคผลนิพพานก็ยังมีอยู่ตราบนั้น แม้กาลเวลาจะล่วงเลย ๕,๐๐๐ ปี หรือยิ่งกว่านั้นก็ตาม โลกย่อมไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ ถ้าทุกคนแม้จะพูดว่า บำรุงพระพุทธศาสนา แต่ไม่ละความชั่ว ไม่ทำความดี ไม่ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ยังเบียดเบียนล้างผลาญกัน ยังริษยาอาฆาตกัน ยังลุอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ยังปราศจากหิริโอตตัปปะอยู่ตราบใด พระพุทธศาสนาก็ชื่อว่าเสื่อมแล้ว   มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว โลกว่างเปล่าจากพระอรหันต์แล้ว แม้ระยะเวลาจะยังไม่ถึง ๕,๐๐๐ ปีก็ตาม.

 

 

                                                                                                                                               ศาสนาคือ     พระธรรม     คำสั่งสอน

                                        ดับทุกข์ร้อน     เย็นยิ่ง     เป็นมิ่งขวัญ

                                        แต่งใจให้งาม     สงบ     ดีครบครัน

                                        ควรป้องกัน     รักษาศาสนา     ให้ถาวร

                               สักวา     ชาวพุทธ     ผู้ผุดผ่อง

                               สิ่งเศร้าหมอง     ผิดธรรม     ผิดคำสอน

                               ก็ใจแกร่ง     แข็งกล้า     ไม่อาวรณ์

                               ยอมเลิกถอน     ทุกอย่าง     ทุกทางไป

                                        การดื่มเหล้า     เมาจัด     ในวัดเล่า

                                        เป็นเรื่องเศร้า     ประจาน     สุดขานไข

                                        ควรระวัง     สังวร     เลิกถอนไว

                                        พระโล่งใจ     โมทนา     สาธุเอย.

                                                     ที่เกิด  ที่ดับของตัณหา

                     อายตนะภายใน, อายตนะภายนอก, วิญญาณ, สัมผัส, เวทนา, สัญญา,

                     สัญเจตนา, ตัณหา, วิตก, วิจาร

                    นี่เป็นที่เกิดแห่งตัณหา  เกิด ณ.ที่ใด ดับ ณ.ที่นั้น -

 

 

 

    

      

 

 อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …














Visitors: 36,771