การเจริญอานาปานสติ
หน้า๑.
วิธีเจริญอานาปานสติที่ทำให้สติปัฏฐานทั้ง ๔ บริบูรณ์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุ
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว.
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า.
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส
(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้า นี้ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในจำพวกกายทั้งหลาย เพราะ
ฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และ
โทมนัส(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตตสังขาร หายใจออก เราจักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า.
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส
(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เป็นอย่างดีนี้ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง
ในจำพวกเวทนาทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว
มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า.
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส
(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่กล่าวว่ามีอานาปานสติสำหรับภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัว
อยู่. เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัด
อภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก
เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลสหายใจเข้า.
สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจออก
เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า.
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส
(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่. เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี.เพราะฉะนั้นแล
ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา(ยินดี)และโทมนัส
(ยินร้าย)ในโลกออกเสียได้อยู่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ .
(มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาส เล่มที่ ๑๔ หน้า ๑๕๒ อานาปานสติสูตร)