กฏิกาของสงฆ์
หน้า๑.
วัดป่าธรรมนิติ
กฎกติกาสงฆ์ ระเบียบปฏิบัติของภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ
๑. เมื่อมาถึงแล้ว พึงรับใบทะเบียนของภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะจากภิกษุวัดป่าธรรมนิติผู้ที่ต้อนรับ และกรอกให้เรียบร้อย แล้วจึงคอยพบประธานสงฆ์โดยทันทีเพื่อขออนุญาตพำนักในอาวาส โดยเมื่อเข้าพบประธานสงฆ์ ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะจะต้องแจ้งรายละเอียดดังนี้.
(๑.) แนะนำตัว
(๒.) แจ้งวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการมา
(๓.) ยื่นใบทะเบียนภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะที่กรอกแล้ว พร้อมทั้งใบสุทธิตัวจริงและหนังสือรับรองจากพระอุปัชฌาย์ ให้ประธานสงฆ์ตรวจสอบและพิจารณาว่า สมควรให้พำนักหรือไม่ หากประธานสงฆ์ไม่อยู่ในเวลานั้น ภิกษุวัดป่าธรรมนิติผู้ที่ต้อนรับพึงแจ้งกับภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะว่าให้คอยเข้าพบประธานสงฆ์ให้เร็วที่สุดเมื่อประธานสงฆ์กลับมาแล้ว เพื่อขออนุญาตพำนักในอาวาส ก่อนที่จะไปทำกิจอย่างอื่น
หากประธานสงฆ์ไม่อยู่ในคืนนั้น ภิกษุวัดป่าธรรมนิติผู้ที่ต้อนรับพึงให้ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะพำนักค้างคืนเป็นการชั่วคราวที่ห้องประชุมสงฆ์หรือกางกลดที่โรงย้อม และคอยเข้าพบประธานสงฆ์โดยเร็วที่สุดเมื่อประธานสงฆ์กลับมา เพื่อขออนุญาตพำนักในอาวาสต่อไป
๒. เมื่อประธานสงฆ์อนุญาตให้พำนักในอาวาสแล้ว ไห้ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะเข้าไปหาภิกษุที่ประธานสงฆ์มอบหมายเพื่อตรวจสอบสิ่งของ รับทราบข้อวัตรปฏิบัติและเข้าที่พำนัก
หน้า๒.
๓. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะมีหน้าที่แนะนำตนเอง วัตถุประสงค์และระยะเวลาในการมาพำนักในอาวาส ต่อคณะสงฆ์วัดป่าธรรมนิติภายในวันแรกที่เข้าพำนัก ในช่วงเวลาประชุมสงฆ์ ณ. ศาลาโรงธรรม โดยให้ประสานกับภิกษุผู้รับผิดชอบถึงขั้นตอนต่างๆในการปฏิบัติ
และแจกเอกสารในการแนะนำตัว / ข้อมูลในการแนะนำตัว ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ
๔. ภิกษุอาคันตุกะที่มีพรรษาน้อยกว่า ๕ พรรษา ให้นั่งอยู่ในลำดับสุดท้ายของภิกษุ /
ภิกษุที่มีพรรษาเกิน ๕ พรรษา ให้นั่งตามลำดับพรรษา โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีภิกษุของวัดป่าธรรมนิตินั่งอยู่ในลำดับก่อนหน้า อย่างน้อย ๒ รูป / สามเณรอาคันตุกะให้นั่งลำดับสุดท้ายของสามเณร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเรียนรู้และฝึกข้อประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับหมู่คณะให้มีความเหมาะสมและเรียบร้อย โดยคณะสงฆ์จะเป็นผู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงลำดับการนั่งตามเวลาอันควร
๕. ภิกษุอาคันตุกะที่มีพรรษาน้อยกว่า ๕ พรรษา ให้เดินบิณฑบาตอยู่ในลำดับสุดท้ายของภิกษุ /
ภิกษุที่มีพรรษาเกิน ๕ พรรษา ให้เดินบิณฑบาตตามลำดับพรรษา โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีภิกษุของวัดป่าธรรมนิติเดินอยู่ในลำดับก่อนหน้าอย่างน้อย ๒ รูป / สามเณรอาคันตุกะให้เดินบิณฑบาตในลำดับสุดท้ายของสามเณร โดยคณะสงฆ์จะเป็นผู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงลำดับการเดินบิณฑบาตตามเวลาอันสมควร
๖. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ จะต้องทำตัวเป็นผู้เลี้ยงง่าย ยินดีในเสนาสนะ และ คิลานปัจจัยตามมีตามได้ มุ่งเน้นการปฏิบัติที่วิเวกหลีกเร้นเป็นสำคัญ และประพฤติตามข้อวัตรปฏิบัติของ
วัดป่าธรรมนิติอย่างเคร่งครัด หากมีการประพฤติใดที่ผิดไปจากข้อวัตรปกติ จะต้องขออนุญาต
ประธานสงฆ์ก่อนทุกครั้ง
หน้า๓.
๗. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ ที่ไม่อาพาธ และไม่มีเหตุอันสมควร หากไม่ออกมาบิณฑบาตก็
สมควรอยู่ประพฤติปฏิบัติในกุฏิไปตลอดทั้งวัน โดยไม่ออกมาแสวงหาอาหาร หรือร่วมฉัน หรือรับอาหารจากหมู่คณะ
๘. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ
ก. ไม่มีหน้าที่คลุกคลี ใช้งาน หรือบอกสอนคณะสงฆ์ สามเณรและผ้าขาว ในด้านธรรมวินัย
และข้อวัตรปฏิบัติของวัดป่าธรรมนิติ ไม่ว่ากรณีใดๆ
ข. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะจะต้องเชื่อฟังประธานสงฆ์เป็นหลัก หรือภิกษุที่ได้รับมอบหมาย
จากประธานสงฆ์ (ที่มีการบอกแนะนำอันไม่ขัดต่อประธานสงฆ์หรือมติสงฆ์)
และสมควรเป็นผู้ขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงานของสงฆ์ หรือการงานที่ได้รับมอบหมาย
จากสงฆ์ ให้สมบูรณ์
ค. ไม่อนุญาตให้ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะแสดงธรรมต่อฆราวาสผู้มิใช่ญาติในเขตอาวาสนี้
ง. หากมีข้อสงสัยในธรรมวินัยและกติกาสงฆ์ให้สอบถามในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์
๙. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ ไม่มีหน้าที่ทำการแสวงหาสิ่งที่ไม่สมควร และไม่เอื้อเฟื้อต่อ
พระธรรมวินัย ไม่ว่ากรณีใดๆ (เช่น จากญาติโยม) หากประสงค์สิ่งใด ให้แจ้งกับประธานสงฆ์
เท่านั้น และสิ่งของต่างๆ ให้รับจากเจ้าหน้าที่คลังสงฆ์เท่านั้น หากมีการลักลอบนำสิ่งของใดๆ
เข้ามาในอาวาสโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสงฆ์หรือคณะสงฆ์ คณะสงฆ์สามารถพิจารณา
การดำเนินการแก้ไขพฤติกรรมตามบัญญัติพระศาสดาได้ในทันที
หน้า๔.
๑๐. เมื่อจะจากไปจากอาวาส ให้แจ้งประธานสงฆ์ เพื่อทราบล่วงหน้าก่อน อย่างน้อย ๑ วัน และดูแล
ทำความสะอาดกุฏิ และบริขารต่างๆ ให้เสร็จเรียบร้อยตามคมิกวัตร (วัตรข้อปฏิบัติของผู้จะเดินทางจากไป)
๑๑. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ จะต้องประพฤติตามระเบียบปฏิบัตินี้อย่างเคร่งครัด หากมีการละเมิดข้อใดก็ตาม คณะสงฆ์วัดป่าธรรมนิติสามารถดำเนินการแก้ไขพฤติกรรมได้ในทันที โดยใช้ระเบียบวิธีการลงโทษเพื่อแก้ไขทิฏฐิพฤติกรรมภิกษุซึ่งผิดตามธรรม ที่เกิดเพราะเหตุมรรคและปฏิปทา
อันประกอบด้วย ตัชชนียกรรม (ข่มขู่) นิยสกรรม (ตัดสิทธิ์) ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่ออกจากพื้นที่) ปฏิสารนียกรรม (ขอโทษคฤหัสถ์) อุกเขปนียกรรม (ขับออกเสียจากหมู่)
๑๒. คณะสงฆ์อาวาสวัดป่าธรรมนิติทุกรูป มีสิทธิและหน้าที่ในการกำกับดูแล ให้ระเบียบนี้ได้รับ
การปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและเรียบร้อย โดยอนุญาตให้แนะนำและตักเตือนได้ ในท่ามกลางที่
ประชุมสงฆ์ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่เหมาะสมกับความเป็นสมณะในธรรมวินัย
ของพระศาสดา
ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ พึงเป็นผู้ว่าง่าย อดทน ยอมรับฟังคำสั่งสอนโดยความ
เคารพ หนักแน่น ซึ่งเป็นลักษณะศรัทธา ของผู้มีศรัทธาพึงกระทำ
“ดูกรสุภูติ ! ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้
ว่าง่าย เป็นผู้อดทน ยอมรับฟังคำสั่งสอน โดยความเคารพหนักแน่น แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่ง
ศรัทธาของผู้มีศรัทธา” .....................................
หน้า๕.
ขั้นตอนการแนะนำตัว ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ
๑.เมื่อได้รับอนุญาตจากประธานสงฆ์หรือผู้แทนประธานสงฆ์ ได้รับการตรวจสิ่งของรับทราบข้อวัตรและเข้าที่พำนักเรียบร้อยแล้ว ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ จะต้องแนะนำตัวกับคณะสงฆ์อาวาสวัดป่าธรรมนิติ ในช่วงเวลาประชุมสงฆ์ ของวันแรกที่มาถึง
๒.ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะพึงสอบถามภิกษุผู้ที่ต้อนรับในวันแรกว่า ช่วงไหนของการประชุมที่เหมาะสมในการแนะนำตัวกับคณะสงฆ์
๓.ภิกษุผู้ที่ต้อนรับในวันแรกจะแจ้งภิกษุอาคันตุกะที่มีพรรษาต่ำกว่า ๕ พรรษา ให้พิจารณาความเหมาะสมขอโอกาสหมู่คณะในการแนะนำตัวเอง / สามเณรอาคันกะให้ขอโอกาสหมู่คณะเพื่อแนะนำตัว
๔.ในกรณีภิกษุอาคันตุกะที่มีพรรษาเกินกว่า ๕ พรรษา ภิกษุผู้ที่ต้อนรับในวันแรกจะพิจารณาว่าจะให้โอกาสภิกษุอาคันตุกะแนะนำตัว หรือจะแนะนำให้แทน
๕.ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะจะแนะนำตัวเอง ด้วยการอ่านจากเอกสารข้อมูลการแนะนำตัว ซึ่งตนเองได้กรอกลงไป หลังจากได้รับอนุญาตจากประธานสงฆ์ให้เข้าพำนักในอาวาส อันจะมี
ชื่อ ฉายา , สังกัดวัด จังหวัด , พรรษา , จุดประสงค์ และระยะเวลาในการมาพำนักที่อาวาสวัดป่าธรรมนิติ
, ได้รับทราบระเบียบปฏิบัติของภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ , และยินดีที่จะปฏิบัติตามหรือไม่
๖.เมื่อคณะสงฆ์ทุกรูปรับทราบ เป็นอันจบขั้นตอนการแนะนำตัว
๗.ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะมีหน้าที่ขวนขวายขอโอกาสในการแนะนำตัวเองต่อคณะสงฆ์มิใช่รอให้ผู้อื่นขวนขวายให้
๘.หากมีภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการแนะนำตัว ภิกษุสงฆ์ของอาวาสวัดป่าธรรมนิติทุกรูปสามารถทักท้วงและซักถามในที่ท่ามกลางสงฆ์ได้ในทันทีว่า (๑.) ใครเป็นผู้รับเข้ามา (๒.)ได้รับอนุญาตให้พำนักในอาวาสนี้จากประธานสงฆ์แล้วหรือไม่ (๓.) ย้ำเตือนให้ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะแนะนำตัวเอง ต่อคณะสงฆ์
คณะสงฆ์อาวาสวัดป่าธรรมนิติ
มีนาคม ๒๕๕๗
หน้า๖.
ข้อมูลการแนะนำตัว ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ
ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะพึงกรอกข้อมูลตามที่เป็นจริง และอ่านเนื้อความทั้งหมดที่กรอกลงไป
ท่ามกลางคณะสงฆ์อาวาสวัดป่าธรรมนิติ ตามขั้นตอนการแนะนำตัวเองต่อคณะสงฆ์
๑. ชื่อ ฉายา ............................................................................................................
๒. สังกัดวัด ..............................................................................................
จังหวัด .............................................................................................
๓. พรรษา .......................
๔. จุดประสงค์ในการมาพำนักในอาวาสนี้ ......................................................................
.......................................................................................................................................
๕. ระยะเวลาในการมาพำนักในอาวาสนี้ .......................................................................
๖. ข้าพเจ้า .................................. ภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ ได้อ่านและทำความเข้าใจ
ระเบียบปฏิบัติของภิกษุ / สามเณรอาคันตุกะ อันเป็นมติ ของคณะสงฆ์อาวาสวัดป่าธรรมนิติแล้ว
และ ยินดี ที่จะปฏิบัติตามระเบียบนี้อย่างเคารพและเคร่งครัด
ไม่ยินดี ที่จะปฏิบัติตามระเบียบนี้อย่างเคารพและเคร่งครัด
คณะสงฆ์อาวาสวัดป่าธรรมนิติ
มีนาคม ๒๕๕๗